เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้ (Cookies) เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและ ยินยอมการจัดเก็บคุกกี้ดังกล่าว โดยท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน นโยบายคุกกี้ และ นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของบริษัทฯ
9 กันยายน 2562

7 อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในบ้าน

58
9,918
แม้ “บ้าน” ของเราจะเป็นที่ที่เราอุ่นใจและรู้สึกปลอดภัยมากที่สุด แต่บางครั้ง “บ้าน” ก็อาจจะมีจุดเสี่ยงที่จะทำให้เราบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุยิ่งต้องประมาทไม่ได้  เรามาดูกันค่ะว่าอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นในบ้านมีอะไรได้บ้าง และจะมีแนวทางป้องกันอย่างไร เพื่อให้บ้านของเรามีความปลอดภัยสำหรับทุกคนในบ้านมากที่สุด
 
7 อันตราย... ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในบ้าน
 
1.  บันไดไม่ใช่ที่วางของ
 
เดิมทีบันไดก็เป็นจุดที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการสะดุดล้มหรือลื่นไถลตกลงมาได้ง่ายอยู่แล้ว แต่หลายบ้านยังเพิ่มความเสี่ยงยิ่งขึ้นด้วยการวางสิ่งของไว้ตรงริมบันได วางไว้ชั่วคราวบ้าง ถาวรบ้าง จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงมาก เพราะเมื่อเผลอเดินไปเตะ ชน หรือเหยียบโดนของที่วางไว้ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะลื่นไถลตกลงมาจนได้รับบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หากของที่วางไว้บนบันไดเป็นของที่มีน้ำหนัก หากพลั้งเตะโดนจนตกหล่นลงมา ก็อาจทำให้คนที่อยู่ข้างล่างได้รับอันตรายได้ ดังนั้น จึงไม่ควรวางสิ่งของใด ๆ ไว้บนบันไดทั้งสิ้น และทุกครั้งที่เดินขึ้น-ลงบันได ฝึกจับราวบันไดไว้ให้เป็นนิสัย เพื่อความปลอดภัยเสมอ

2.  พื้นบ้านอย่าวางของเกะกะ
 
หลายท่านอาจมองว่าการวางของตามพื้นไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหาย บ้านก็บ้านเรา ก็แค่อาจดูไม่เรียบร้อยสวยงามก็แค่นั้น แต่จริงๆแล้ว มันไม่ใช่ “แค่นั้น” ค่ะ !
เพราะอย่าลืมว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไรขึ้น เรามักจะลืมที่จะระวังของพวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินแล้วไฟดับ ลองคิดจำลองสถานการณ์ว่าเกิดไฟไหม้ในละแวกบ้านแล้วทำให้ไฟดับดูสิคะ นอกจากจะต้องคุมสติคิดว่าควรทำอะไรก่อน-หลังแล้ว มองอะไรก็ไม่เห็น หาอะไรก็ไม่เจอ แล้วยังอาจสะดุดข้าวของที่วางไว้เกลื่อนพื้นจนล้ม กระแทกโดนโน่นนี่จนได้รับบาดเจ็บได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะของเล่นลูก หรือข้าวของอุปกรณ์อะไรก็ตาม ใช้แล้วให้เก็บที่ ทางเดินในบ้านไม่ควรมีสิ่งกีดขวางใด ๆ ใส่ใจสักนิด เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิตในบ้านกันนะคะ

3.  หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้พื้นลื่นหรือเปียก
 
พื้นบ้านที่ปูด้วยกระเบื้อง ไม้ปาร์เกต์ หรือหินขัด แม้จะให้ความสวยเงางาม แต่ก็แฝงไปด้วยความลื่นเสมอ และโดยเฉพาะเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดพื้นที่ช่วยเพิ่มความเงางาม ก็จะยิ่งทำให้พื้นลื่นมากยิ่งขึ้น ลำพังหากเดินปกติด้วยเท้าเปล่าก็คงไม่มีปัญหาหรอกค่ะ แต่หากเวลาที่พื้นเปียกแล้วเราไม่ทันเห็น หรือเวลาที่เราใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าสลิปเปอร์สำหรับใส่ในบ้านแล้วเรากำลังรีบ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะลื่นล้มหัวทิ่มหัวตำได้ง่าย แนวทางการป้องกัน หากกรณีที่เป็นการสร้างบ้านใหม่หรือปรับปรุงบ้านเดิม คงต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่พื้นผิวไม่ลื่น โดยเฉพาะพื้นห้องน้ำ ส่วนน้ำยาเช็ดพื้นที่จะใช้ ก็ควรทดสอบให้มั่นใจว่าไม่ทำให้พื้นลื่นก่อนเสมอ นอกจากนี้ทุกครั้งที่พื้นเปียก ควรรีบเช็ดให้แห้งทันทีเพื่อความไม่ประมาท เพราะ “การล้ม” เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือเสียชีวิต

4.  เรื่องพรมเช็ดเท้าอย่าได้มองข้าม
 
แม้พรมเช็ดเท้าที่ทุกบ้านใช้จะมีไว้เพื่อลดอันตรายจากเท้าที่เปียก แต่ก็อาจมีอันตรายแฝงอยู่ด้วยค่ะ ทั้งจากความลื่นของตัววัสดุที่ใช้ทำพรมเช็ดเท้าเอง รวมทั้งในกรณีที่เราเดินมาเร็ว ๆ แล้วเหยียบ ก็อาจพลาดพลั้งลื่นไถลได้ ดังนั้น จึงควรเลือกใช้พรมที่พื้นผิวด้านล่างมีความฝืด หรือไม่ก็หาแผ่นยางหรือแผ่นรองที่มีพื้นผิวยึดเกาะพื้นกันลื่นได้ วางไว้ที่พื้นก่อนหนึ่งชั้น ก่อนจะนำพรมเช็ดเท้ามาวางทับอีกที ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้พื้นพรมพาตัวเราลื่นไถลตามไปด้วย ปลอดภัยไว้ก่อนค่ะ

5.  เก็บของมีคมหลังการใช้งานเสมอ
 
ปัญหาที่มากับของมีคม เช่น มีดทำครัว หรือเครื่องมือทำสวน คือ บางครั้งเรามักจะวางรวมกับของอย่างอื่นและบาดมือเราขณะกำลังค้นหาของ ดังนั้น การเก็บของมีคมจะต้องเก็บให้เป็นสัดเป็นส่วนแยกจากเครื่องใช้อื่นให้ชัดเจน อาจจะมีภาชนะใส่แยก และเก็บไว้ให้เป็นที่เป็นทาง และที่สำคัญต้องให้พ้นมือเด็กเสมอค่ะ และถ้าทำได้ ควรหันคมของเครื่องใช้นั้นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้บาดโดนมือเราได้ค่ะ นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาจากของมีคม คือ การตกหล่นลงมาโดนเท้า  ซึ่งส่วนมากเกิดจากการเก็บของมีคมไว้ในภาชนะที่วางบนโต๊ะ แล้วพลาดไปเกี่ยวตกหล่นลงมา ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุแบบนี้ ภาชนะที่เก็บของมีคมไว้ในที่เปิดโล่งจะต้องวางลึกเข้าไปพอสมควร และควรจะต้องมีน้ำหนักมากพอที่จะไม่เผลอไปชนจนตกหล่นลงมาได้ด้วยค่ะ ใส่ใจสักนิด สร้างให้เป็นนิสัย เพื่อความไม่ประมาทกันค่ะ

6.  ปลั๊กไฟฟ้าจุดเสี่ยงก็ต้องป้องกัน
 
การใช้ไฟฟ้านอกจากการติดตั้งที่ต้องได้มาตรฐานแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ต้องไม่เผลอเอานิ้วไปแหย่รูปลั๊กไฟค่ะ ฟังดูแล้วอาจจะงงว่าถ้าไม่ใช่เด็กเล็ก ๆ ไม่น่าจะมีผู้ใหญ่คนไหนจะเอานิ้วไปแหย่ได้ แต่ความจริงแล้วอุบัติเหตุที่เกิดจากการเผลอเอานิ้วแหย่รูปลั๊กไฟเกิดขึ้นบ่อยค่ะ ส่วนมากเกิดจากการติดตั้งปลั๊กไฟคู่กับสวิตช์ไฟ ทำให้เวลาจะเข้าห้องเปิดไฟก็อาจจะเผลอเอานิ้วไปแหย่ถูกได้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ จึงควรหาซื้อตัวเสียบปิดรูปลั๊กไฟมาปิดรูปลั๊กที่เสี่ยงเหล่านั้นไว้ หรือในกรณีที่ปลั๊กที่เสี่ยงเป็นจุดซึ่งต้องใช้งานบ่อย ๆ ปัจจุบันมีฝาครอบที่เปิด-ปิดได้เวลาจะใช้งาน เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกไฟฟ้าช็อต เลือกวิธีที่สะดวก แต่ต้องไม่ประมาท เพียงคิดว่าคงไม่เกิด เพราะอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอค่ะ

7.  เก็บของในที่สูงทุกครั้งห้ามประมาท
 
การเก็บของในที่สูง คนส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการปีนเก้าอี้ที่พอจะหาได้ใกล้ตัว ซึ่งบางครั้งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะเก้าอี้มักออกแบบให้ทนน้ำหนักได้หากนั่งตรงกลาง ซึ่งจะกระจายน้ำหนักกดทับไปเท่า ๆ กัน ที่ทุกขาของเก้าอี้ แต่ในกรณีที่ยืนบนเก้าอี้ เท้าของเราอาจจะเอียงไปมุมใดมุมหนึ่งแล้วทำให้ขาเก้าอี้นั้นรับน้ำหนักมากกว่าปกติ จนเอียงและพลัดตกลงมา โดยเฉพาะหากเป็นเก้าอี้พลาสติก ยิ่งไม่ได้ออกแบบมาให้รับน้ำหนักได้ขนาดนั้น ยิ่งไปกว่านั้น บางคนอาจเอาเก้าอี้ทำงานที่มีล้อเลื่อนมาใช้ปีน เพราะคิดแต่ว่าแค่ขึ้นไปยืนแป๊บเดียวเท่านั้นคงไม่เป็นไรหรอก เป็นค่ะ ! แน่ ๆ ด้วย เพราะทันทีที่เราขึ้นไปยืนบนเก้าอี้ที่มีล้อ จะเกิดแรงส่งให้ล้อของเก้าอี้เคลื่อนในขณะที่เรายังยืนทรงตัวได้ไม่เรียบร้อย อันตรายมากค่ะ ห้ามใช้โดยเด็ดขาด ทางที่ดีในบ้านควรมีบันไดเล็ก ๆ สำหรับใช้ขึ้นที่สูง หรือถ้าไม่มี ก็ให้เลือกใช้เก้าอี้ที่แข็งแรง ทำจากไม้หรือโลหะ ขาเก้าอี้แบบเป็นฐานกว้าง เพื่อความปลอดภัยค่ะ
 
อุบัติเหตุป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท
มาทำให้บ้านของเราเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนในบ้านที่เรารักกันเถอะค่ะ
ด้วยความห่วงใย จาก #ไอไดเร็คท์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
www.gurubaan.com
www.home.kapook.com
แบ่งปันบทความนี้ไปยัง