เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้ (Cookies) เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและ ยินยอมการจัดเก็บคุกกี้ดังกล่าว โดยท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน นโยบายคุกกี้ และ นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของบริษัทฯ
9 กันยายน 2562

เช็ก 5 สัญญาณ อาการข้อเข่าเสื่อม

52
3,722
ข้อเข่าเสื่อม  หลายท่านอาจคิดว่าต้องคนมีอายุเท่านั้นถึงเป็นได้ ! แต่จริงแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นค่ะ วัยทำงานเองก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน จึงมีคนจำนวนมากที่เป็นโดยไม่รู้ตัว เราลองมาเช็กอาการเบื้องต้นของตัวเองกันดีกว่า รู้เร็วก็แก้ไขได้ หรือถึงไม่เป็น ก็ป้องกันไว้ วันนี้เราจึงมีวิธีถนอมข้อเข่าที่ควรรู้มาฝากด้วยค่ะ

5 สัญญาณอาการข้อเข่าเสื่อม
 
คุณล่ะคะ...มีอาการแบบนี้กันอยู่รึเปล่า ?
  • มีอาการเจ็บข้อเข่าเมื่อเดินหรือยืน โดยเจ็บติดต่อกันนาน 2-4 อาทิตย์
  • มีเสียงในข้อ (เข่าลั่น)
  • เจ็บหัวเข่าเมื่อเดินขึ้น-ลงบันได
  • เริ่มเดินขาโก่ง หรือขาแยกโดยไม่รู้ตัว
  • ข้อเข่ายึดติด เหยียด หรืองอขาได้ไม่สุด

ใครที่มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมบ้าง
  • ผู้ที่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวที่มาก โดยพบว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1-1.5 กิโลกรัม ขณะเดียวกันเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูก ส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วยิ่งขึ้นด้วย
  • สุภาพสตรีที่สวมรองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่นั่งงอเข่ามาก ๆ ต่อเนื่องยาวนาน เช่น การนั่งพับงอเข่า นั่งยอง ๆ คุกเข่า พับเพียบ นั่งเตี้ย ๆ หรือนั่งขัดสมาธิ
  • ผู้ที่ขึ้น-ลงบันไดบ่อยเกินไป
  • ผู้ที่มีโรคข้ออักเสบเช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรคข้อติดแข็ง โรคติดเชื้อ เป็นต้น
  • ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุต่อข้อเข่า เช่น ข้อเข่าเคลื่อนหลุด กระดูกหักบริเวณรอบข้อเข่า เอ็นเข่าฉีก หรือหมอนรองกระดูกเข่าฉีก เป็นต้น

5 วิธีป้องกันการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
  • หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ หรือหลายขั้นมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ต้องงอเข่ามาก ๆ เช่น การนั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งคุกเข่านาน ๆ
  • ควบคุมน้ำหนักของร่างกายไม่ให้มากเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
  • ระวังไม่ให้เข่าได้รับบาดเจ็บ หรือหากได้รับบาดเจ็บ ก็ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
  • บริหารกล้ามเนื้อรอบหัวเข่าอยู่เสมอ โดยนั่งเหยียดและกระดกปลายเท้าโดยไม่งอเข่า และบริหารหัวเข่าโดยใช้ท่าหมุนหัวเข่า หมุนไปกลับ 3 เช็ต    เช็ตละ 20 ครั้งเป็นประจำทุกวัน
และนอกจากการดูแลป้องกันด้วยตัวเองแล้ว การจัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน เพื่อลดโอกาสในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันค่ะ

การจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน
  • บริเวณบ้านควรจัดให้โล่ง สว่าง ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเดิน เพื่อกันการสะดุดล้มลง
  • ควรมีราวจับทั้ง 2 ด้านของบันได ขึ้น-ลงทุกครั้ง จับราวให้เป็นนิสัย เพื่อความปลอดภัยเสมอ
  • ใช้โถสุขภัณฑ์เป็นแบบชักโครก เพื่อหลีกเลี่ยงการนั่งยอง ๆ
  • ภายในห้องน้ำควรใช้วัสดุกันลื่น และมีราวจับ
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดเข่าเรื้อรังหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมนะคะ อย่าซื้อยามารับประทานเองโดยอันขาด เพราะนอกจากจะไม่ใช่วิธีการรักษาที่ถูกต้องแล้ว อาจมีความเสี่ยงที่จะดื้อยา หรือใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ถูกต้องได้ด้วยค่ะ
 
ใส่ใจดูแลสุขภาพข้อเข่าให้อยู่ดี ๆ กับเราไปอีกนาน ๆ จะไปเที่ยวไหน ก็จะได้เที่ยวได้อย่างมีความสุข ไร้ปัญหาเจ็บ ๆ กันนะคะ
 
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก
https://www.vejthani.com
https://www.bangkokhospital.com
https://www.sanook.com
แบ่งปันบทความนี้ไปยัง