เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้ (Cookies) เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและ ยินยอมการจัดเก็บคุกกี้ดังกล่าว โดยท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน นโยบายคุกกี้ และ นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของบริษัทฯ
9 กันยายน 2562

กินยาอย่างไรให้ปลอดภัย กินกับอะไรไม่ได้ควรรู้

52
4,035
คุณกำลังกินยาผิดวิธีอยู่รึเปล่า ?
...ทำไมกินยาแล้วไม่ดีขึ้น ???
...ทำไมกินครบแล้วถึงไม่หาย ???
บางที...ก็อาจมาจากสาเหตุเหล่านี้ก็ได้ มาลองสำรวจตัวเองกันค่ะ

การรับประทานยา นอกจากจะทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องตามเวลาอย่างถูกต้องแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน คือ การทานยาร่วมกับอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด อาจส่งผลต่อการดูดซึมหรือการออกฤทธิ์ของยาจนถึงขั้นเป็นอันตรายได้ ด้วยเหตุนี้ เพื่อการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี เรามาดูกันค่ะว่า ไม่ควรทานยากับอะไรบ้าง

นมและผลิตภัณฑ์จากนมบางชนิด

ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้ทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นนั่นเอง และนอกจากนี้ ในเวลาที่เราเป็นหวัด นมก็เป็นอีกหนึ่งอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะนมมีความเข้มข้นสูง จะทำให้เสมหะและน้ำมูกเหนียวตัวมากขึ้น เกิดภาวะความหนืดภายในลำคอ ส่งผลให้เชื้อไวรัสหวัดยิ่งเจริญเติบโต และทำให้อาการเจ็บป่วยหายช้ามากขึ้นค่ะ

อย่างไรก็ตาม มีผลิตภัณฑ์จากนมเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถทานร่วมกับยาปฏิชีวนะได้ นั่นก็คือ โยเกิร์ต เนื่องจากโยเกิร์ตมีโพรไบโอติกส์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารผลิตแบคทีเรียชนิดดีออกมาต่อต้านกับเชื้อโรคร้ายภายในร่างกายได้ นอกจากนี้ โพรไบโอติกส์ยังช่วยป้องกันอาการท้องเสีย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการทานยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยบางรายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด
 
เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่มีกรดผสมอยู่นั้น จะไปขัดขวางกระบวนการดูดซึมของยา ทำให้ร่างกายได้รับเคมีจากยาเข้าไปบำบัดอาการเจ็บป่วยได้น้อยลง
แทนที่อาการป่วยจะดีขึ้น กรดเหล่านี้กลับจะยิ่งทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียไม่ถูกทำลาย ตรงกันข้าม ยังทำให้เจริญเติบโตต่อไปได้อีกด้วย สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ น้ำอัดลม โซดา ผลไม้และน้ำผลไม้รสเปรี้ยว รวมไปถึงอาหารที่มีส่วนผสมจากมะเขือเทศอย่างซอสมะเขือเทศ ก็มีฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมของยาได้เช่นกัน ทราบเช่นนี้แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีกรดผสมอยู่พร้อมกับการทานยาจะดีที่สุดค่ะ

น้ำผลไม้บางชนิด
 
น้ำผลไม้บางชนิด เช่น เกรปฟรุต ผลไม้ตระกูลเดียวกับส้มโอ แม้จะมีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่มีงานวิจัยพบว่าการดื่มน้ำเกรปฟรุตมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาหลายชนิด เช่น ยาลดความดัน ฟิโลดิปีน (felodipine) แอมโลดิปีน (amlodipine) ยาลดไขมันในเลือด ซิมวาสแตตินอ (simvasatatin) ยาคลายเครียด ไดอะซีแพม (diazepam) เนื่องจากไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในการเปลี่ยนแปลงยา จนระดับยาในเลือดสูงขึ้นและอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ แม้เกรปฟรุตจะไม่ใช่น้ำผลไม้ที่เป็นที่นิยมในเมืองไทย แต่หากในกรณีที่เดินทางไปต่างประเทศ หากเรารู้ไว้เช่นนี้ พึงหลีกเลี่ยงไว้เป็นดีค่ะ

กาแฟ
 
หลายท่านอาจคิดว่าทานยาพร้อมกาแฟก็คงไม่เป็นอะไรหรอก เพราะบังเอิญมีแก้วกาแฟถืออยู่ในมือเวลานั้น แต่จริงแล้วไม่ควรค่ะ โดยเฉพาะในกรณีที่ทานยากลุ่มแก้หวัดหรือขยายหลอดลมอยู่ (ซึ่งอาจได้ยาชนิดนี้มาตอนเป็นหวัด คัดจมูก หรือผู้ที่เป็นโรคหอบหืดที่ต้องทานยาขยายหลอดลมเป็นประจำ)
ที่ต้องเตือนว่าห้ามทานคู่กันโดยเด็ดขาด เนื่องจากกาแฟมีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เช่นเดียวกับยาขยายหลอดลมที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อทานพร้อมกันอาจเกิดอาการใจสั่น รวมทั้งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ หรือในคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว กรณีนี้ยิ่งอันตรายมากขึ้นค่ะ
 
นอกจากนี้ ในกรณีที่เราทานแคลเซียมในรูปแบบของอาหารเสริมอยู่ ก็ไม่ควรทานคู่กับกาแฟเช่นกัน แม้จะไม่ได้ส่งผลเรื่องอันตรายต่อสุขภาพโดยตรง
แต่เหตุผลคือเป็นเพราะกาแฟมีฤทธิ์ขับแคลเซียมออกจากร่างกาย จึงกลายเป็นว่าแคลเซียมที่เราทานจะถูกขับออกไปทันทีโดยสูญเปล่า เสียเงินไปฟรี ๆ ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เชื่อว่าปกติแล้วคงไม่มีใครคิดจะทานยากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นแน่ แต่ในกรณีของผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำจนเกิดภาวะพิษสุราเรื้อรังนี่สิคะ หากดื่มหนักจนเช้าตื่นมาปวดหัวแล้วทานยาพาราเซตามอลเข้า นอกจากจะเป็นการทำร้ายตับซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงถึงขั้นภาวะตับวายได้เลยนะคะ
นอกจากนี้ ด้วยความที่แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท ดังนั้น ผู้ที่ทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาแก้โรคซึมเศร้า
จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากไปดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาแล้ว จะยิ่งเสริมฤทธิ์กดประสาทให้รู้สึกง่วงซึม และขาดสมาธิมากขึ้น ถ้ารุนแรงก็อาจถึงขั้นหมดสติและหยุดหายใจได้

ผักใบเขียวที่มีวิตามินเคสูง

แม้กรณีนี้จะไม่ได้เป็นการทานพร้อมยาโดยตรงก็ตาม แต่ในมื้ออาหารก่อนที่จะทานยา หากมีการทานผักใบเขียวจำพวก บรอกโคลี ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี ในปริมาณมาก ควรต้องระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด วาร์ฟาริน (warfarin) อยู่ เนื่องจากมีผลต่อระดับความแข็งตัวของเลือดโดยตรงจนอาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้น ในช่วงเทศกาลกินเจ สำหรับผู้ป่วยที่ทานยานี้ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ที่ให้การรักษาโดยตรงเพื่อความปลอดภัยนะคะ

ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง
 
ผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะกล้วยกับส้มที่คนไทยเราชอบรับประทาน ผลไม้ 2 ชนิดนี้มีโพแทสเซียมสูง ซึ่งโพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีผลต่อการใช้ยาขับปัสสาวะ หากระดับโพแทสเซียมในเลือดผิดปกติจนทำให้เกิดพิษจากยาที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ก็อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ด้วยเหตุนี้ สำหรับผู้ป่วยที่ทานยาขับปัสสาวะ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับประทานอาหารต่าง ๆ และจะให้ดีควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาโดยตรงนะคะ
 
รู้อย่างนี้แล้ว ควรรับประทานยากับน้ำเปล่าเป็นดีที่สุดค่ะ  แล้วอย่าลืมนะคะ เพื่อให้การดูดซึมและออกฤทธิ์ของยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
 
กรณีมียาก่อนอาหาร ก็ควรทานในช่วงที่ท้องว่าง ก่อนทานอาหารอย่างน้อย 30 นาที
ยาหลังอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารไม่เกิน 15-30 นาที 
ส่วนยาก่อนนอนนั้น ควรทานก่อนนอน 15-30 นาทีค่ะ

“ยา” จะสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้มากน้อยเพียงใด จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวยาเท่านั้น หากขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพตัวเองทั้งกายและใจ รวมทั้งความใส่ใจในการรับประทานอาหารและยาอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วยค่ะ
 
ไอไดเร็คท์ ขอให้เพื่อน ๆ ทุกท่านมีสุขภาพดี แข็งแรงกันถ้วนหน้านะคะ
แบ่งปันบทความนี้ไปยัง